โครงสร้างยางผ้าใบแบบไม่ใช้ยางใน (Tubeless Tire) ยางผ้าใบแบบใช้ยางใน (Tube-type Tire)


ยางรถยนต์และยางรถประเภทอื่นๆ สามารถจำแนกตามโครงสร้างของยาง ออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ยางเรเดียล

2. ยางผ้าใบ

โดยยางทั้ง 2 ประเภทนี้ มีทั้งแบบที่ใช้ยางใน+ยางรองคอ และแบบที่ไม่ใช้ยางใน แต่ยังมีผู้ใช้จำนวนมากที่เข้าใจผิดว่า ยางผ้าใบแบบไม่ใช้ยางใน(Tubeless Tire) เป็นยางเรเดียล ซึ่งที่จริงแล้วยางเรเดียลกับยางผ้าใบต่างกันที่ชั้นวัสดุที่ออกแบบไว้สำหรับเสริมความแข็งแรงของตัวยาง โดยที่ยางเรเดียลจะใช้วัสดุเป็นเส้นใยลวดวางตลอดแนวหน้ายาง ส่วนยางผ้าใบจะใช้ผ้าใบเฉียงวางซ้อนกันตลอดแนวหน้ายาง 

จุดสังเกตง่ายๆ สำหรับการดูว่ายางที่เราใช้นั้น เป็นยางผ้าใบ หรือยางเรเดียล คือ ยางเรเดียลขนาดยางที่แก้มยางจะแสดงว่า 10.00R20 ซึ่งตัว R คือสัญลักษณ์แสดงถึง ยางเส้นนั้นเป็นยาง Radial 

 

ส่วนยางผ้าใบขนาดยางที่แก้มยางจะแสดงว่า 10.00-20 โดยใช้ - (ขีดกลาง)เป็นสัญลักษณ์แทนยางผ้าใบนั่นเอง


โดยที่ยางผ้าใบขนาดเดียวกัน อาจมีชั้นผ้าใบแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับยางที่ผลิตเพื่อใช้งานในลักษณะประเภทไหน เช่น ยางผ้าใบรถบรรทุกทั่วไปขนาด 10.00-20 16PR จะประกอบด้วยชั้นผ้าใบเฉียงวางซ้อนกันจำนวน 16 ชั้น ซึ่งเป็นจำนวนชั้นผ้าใบมาตรฐานสำหรับยางขนาดนี้ แต่ก็ยังมียางผ้าใบรถบรรทุก 10.00-20 18PR ซึ่งมีชั้นผ้าใบมากกว่ายางทั่วไปเพิ่มขึ้นอีก 2 ชั้น และยางผ้าใบ 18PR มักจะเป็นยางดอกบั้งหรือดอกออฟโรด ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ สำหรับใช้งานในเหมืองแร่ และใช้งานที่ต้องการรับน้ำหนักภาระงานที่มากกว่ายางทั่วไป ดอกยางแบบบั้งและแบบออฟโรดเพื่อรองรับการใช้งานที่ต้องพบเจออุปสรรคสิ่งกีดขวาง ของมีคมต่างๆ มากกว่ายางผ้าใบทั่วไปนั่นเอง



รูปเปรียบเทียบโครงสร้างยางผ้าใบแต่ละชนิด

Tubeless (ทูปเลส หรือที่เรียกกันติดปากว่า "จุ๊บเลส") คือ ยางแบบไม่ใช้ยางใน ใช้แต่เพียงยางนอกอย่างเดียว โดยยางจะมีเนื้อยางหนาและโครงสร้างยางแข็งแรงขึ้น ขอบยางหนากว่ายางแบบใช้ยางใน เพื่อใช้อัดให้แน่นกับขอบกระทะล้อในการเก็บลม และเมื่อถูกวัตถุแหลมทิ่มตำ แล้วรูรั่วมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เนื้อของยางจะพยายามบีบรูนั้นไว้ ทำให้ลมยางค่อยๆซึมออกช้าๆ หรือหากว่าวัตถุแหลมคมนั้นยังปักติดกับหน้ายาง อาจสามารถใช้งานได้ไปอีกหลายวันกว่าที่ยางจะแบน

ยาง Tubeless ถูกออกแบบมาเพื่อลบจุดด้อยของยางในอดีต เพราะยางในอดีตนั้นเป็นยางแบบมียางใน หากถูกตะปูหรือวัตถุแหลมคมแทงทะลุยางชั้นนอกเข้าไปถึงยางชั้นใน ลมก็จะรั่วออกทันทีอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่วินาทียางก็แบนสนิท หรืออาจถึงขั้นยางระเบิดทำให้รถเสียการทรงตัวและเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้


ข้อดีของยางผ้าใบแบบไม่ใช่ยางใน (Tubeless Tire)
1. เพราะไม่ต้องใช้ยางใน จึงตัดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายของยางใน ยางในรั่ว ยางในเสื่อมสภาพ
2. ขณะที่ยางถูกของมีคมทิ่มตำ ลมยางจะไม่รั่วออกฉับพลัน แต่จะค่อยๆซึมออกทีละนิดป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากความเสียหายจากยางได้
3. โอกาสที่ยางจะระเบิดนั้นมีน้อยกว่ายางแบบมียางใน เพราะยางแบบ Tubeless มีความร้อนสะสมน้อยกว่ายางแบบมียางใน เนื่องจากยางแบบใช้ยางใน เวลาวิ่งนั้นยางนอกและยางในจะเกิดการเสียดสีกัน
เองทำให้เกิดความร้อนสะสมสูง
4. ช่วยในการลดน้ำหนักยาง และช่วยให้การบำรุงรักษายางได้ง่ายขึ้น

ข้อสียของยางผ้าใบแบบไม่ใช่ยางใน (Tubeless Tire)
1. มีราคาสูงกว่ายางผ้าใบแบบใช้ยางใน
2. หากเกิดความเสียหายที่ทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่ จะไม่สามารถปะยางแบบทั่วไปได้ จะได้ถอดยางเพื่อนำไปสตรีมยางด้วยความร้อน และขั้นตอนการปะยางนี้เอง หากดำเนินการแบบไม่ระมัดระวังแล้ว จะทำให้เกิดการตกค้างของสิ่งสกปรกต่างๆภายในตัวยาง และเมื่อนำยางกลับมาใช้งานหลังจากปะ สิ่งสกปรกเหล่านั้นอาจทำความเสียหายให้กับเนื้อยางด้านในได้



ข้อดีของยางแบบมียางใน  
1. ราคาค่อนข้างถูก
2. กรณียางโดนตะปูหรือของมีคมตำนั้น ค่าปะยางมีราคาถูก
3. สามารถอัดลม รองรับการบรรทุกหนักได้ดีกว่า เช่น รถสิบล้อ รถแทรคเตอร์
4. มีความยืดหยุ่น แก้มยางไม่ต้องออกแบบมาเป็นพิเศษ ใช้ในที่ทุรกันดารได้ดี

ข้อเสียของยางแบบมียางใน
1. เมื่อยางโดนตะปูหรือวัตถุมีคมแทงทะลุยางชั้นนอก เข้าไปถึงยางชั้นใน ลมก็จะรั่วออกอย่างรวดเร็ว
2. ต้องหมั่นเติมลมยางให้แข็งอยู่เสมอ เพราะถ้าลมอ่อน จะทำให้เวลารถวิ่งยางนอกจะไปเสียดสีกับยาง
ในทำให้ยางรั่วได้
3. เนื่องจากยางแบบใช้ยางใน เวลาวิ่งนั้น ยางนอกและยางในจะเกิดการเสียดสีกัน
เองทำให้เกิดความร้อนสูง ถ้ายางระเบิดขณะขับรถอยู่ อาจทำให้เกิดอันตรายได้

ข้อควรระวัง
1. การประกอบยางผ้าใบแบบไม่ใช้ยางใน จะต้องทำด้วยความระมัดระวัง หากขอบยางเสียหายจะทำให้เกิดการรั่วซึมที่ขอบยางได้
2. ต้องตรวจสภาพขอบกะทะล้อ และวาล์วเติมลมให้มีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการรั่วซึมที่บริเวณดังกล่าว
3. เนื่องจากยางผ้าใบแบบไม่ใช้ยางใน เมื่อมีการรั่วซึม ลมยางจะค่อยๆอ่อนตัวลงอย่างช้าๆ ทำให้ผู้ใช้งานอาจไม่ทราบว่ายางรั่ว ดังนั้นจึงควรตรวจวัดลมยางอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าลมยางลดลงหลังจากที่เติมลมยางภายในระยะเวลาสั้นๆ ควรนำยางไปตรวจเช็คเพื่อหารอยรั่วต่อไป

นอกจากยางรถบรรทุกแล้ว ยังมียางรถอีกหลายประเภทที่เป็นยางผ้าใบแบบไม่ใช้ยางใน (Tubeless Tire) เช่น ยางรถตัก ยางรถเกรด ยางรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ ยางรถการเกษตร ยางรถภาคสนาม ยางรถกอล์ฟ ยางรถเอทีวี ยางออฟโรด เป็นต้น

ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก http://global.yokohamatire.net/index.html


EmoticonEmoticon