ส่วนประกอบและข้อดี ข้อเสียของกะทะล้อแต่ละชนิด

กะทะล้อ (Rims)
กะทะล้อเป็นส่วนที่ยึดยางรถยนต์กับดุมล้อ กะทะล้อประกอบด้วย 2 ส่วนด้วยกัน คือ ขอบกะทะล้อ และจานกะทะล้อ โดยขอบกะทะล้อ เป็นส่วนที่ยึดยางรถยนต์กับจานกะทะล้อและยังทำหน้าที่ในการรักษารูปทรงของยางรถยนต์ ส่วนจานกะทะล้อทำหน้าที่ในการยึดของกะทะล้อให้ติดกับดุมล้อ จานกะทะล้อจะมีรูสำหรับยึดน็อตกับดุมล้อเพื่อความสะดวกในการถอด-ใส่ล้อรถยนต์กับดุมล้อของรถยนต์

กะทะล้อแบ่งตามรูปแบบการสร้าง แบ่งได้ 3 แบบ คือ

1. แบบกะทะล้อเหล็กกล้าอัดขึ้นรูป

2. แบบกะทะล้อซี่ลวด

3. กะทะล้อโลหะผสม หรือล้อแม็ก



  แสดงส่วนประกอบของกะทะล้อแบบเหล็กกล้าอัดขึ้นรูป

กะทะล้อแบบเหล็กกล้าอัดขึ้นรูป 
เป็นกะทะล้อที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีความแข็งแรงและสามารถต้านทานต่อการเกิดอุบัติเหตุที่มีแรงกระทำต่อล้อได้เป็นอย่างดี อีกทั้งกะทะล้อแบบนี้สามารถผลิตได้ง่ายคราวละมากๆ โครงสร้างของกะทะล้อชนิดนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ขอบกะทะล้อ และจานกะทะล้อ โดยขอบกะทะล้อ จะมีลักษณะต่ำตรงกลาง หรือเว้าตรงกลาง วัตถุประสงค์เพื่อให้ง่ายต่อการถอด-ใส่ยางรถยนต์ และด้านข้างของขอบกะทะล้อจะมีลักษณะเป็นสันนูนยกขึ้น เพื่อป้องกันการเลื่อนไถล หรือป้องกันการหลุดของยาง เมื่อยางมีลมอ่อน และเป็นการช่วยป้องกันการรั่วซึมของลม ส่วนจานกะทะล้อหรือสไปเดอร์ ตรงกลางของจานกะทะล้อจะมีรู เพื่อใส่กับดุมล้อ รอบๆ รูใส่ดุมล้อจะมีรูไว้สำหรับร้อยน็อตยึดระหว่างกะทะล้อกับดุมล้อ โดยทั่วไปรูเจาะร้อยน็อตจะมีตั้งแต่ 4-6 รูแล้วแต่ชนิดของดุม ขอบกะทะล้อ และจานล้อจะใช้หมุดหรือวิธีการเชื่อมติด เพื่อยึดทั้ง 2 ส่วนเข้าด้วยกัน กะทะล้อที่ดี จะต้องไม่เบี้ยวหรือเแกว่งเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับตัวล้อขณะที่รถแล่น


 ลักษณะ รูปร่าง และส่วนประกอบของกะทะล้อแบบซี่

กะทะล้อซี่ลวด (Wire Spokes Wheel) 
กะทะล้อแบบนี้นิยมใช้กับรถแข่ง รถสปอร์ต หรือรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นกะทะล้อที่มีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรงสูงมาก สามารถถอดเปลี่ยนล้อได้อย่างรวดเร็ว มีเกลียวล็อกล้ออยู่ตรงกลางอันเดียว รูปแบบของล้อแบบซี่ กะทะล้อแบบซี่ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนของขอบล้อ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับขอบกะทะล้อของกะทะล้อแบบเหล็กกล้าอัดขึ้นรูป ส่วนที่สอง คือ ซี่ลวด ซึ่งใช้แทนจานกะทะล้อในล้อแบบเหล็กกล้า ซี่ลวดทำด้วยเหล็กกล้าที่มีความแข็งแรงสูงใช้วิธีการยึดแบบไขว้ไปมา โดยทั่วไปซี่ลวดจะรับแรงดึงได้มากกว่าแรงกด ความแข็งแรงของกะทะล้อแบบซี่ลวด ขึ้นอยู่กับขอบกะทะล้อ และการร้อยซี่ลวดระหว่างปลอกสวมดุมล้อ และขอบกะทะล้อ


แสดงรูปร่าง และส่วนประกอบของกะทะล้อแบบแม็ก หรือแบบโลหะผสมเบา

กะทะล้อโลหะเบาผสม (Cast Light alloy Wheel) หรือล้อแม็ก (Mag) 
กะทะล้อแบบนี้ผลิตโดยการหล่อ โดยใช้โลหะเบาผสมกัน คืออะลูมิเนียม กับแม็กนีเซียม ซึ่งทำให้กะทะล้อแบบนี้ มีน้ำหนักเบา และแข็งแรงกว่ากะทะล้อแบบเหล็กกล้า ปัจจุบันมีความนิยมใช้ล้อแม็กกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมากขึ้น

เนื่องจากกะทะล้อแบบนี้มีข้อดีกว่ากะทะล้อแบบอื่นๆ ดังนี้

1. มีน้ำหนักเบา เมื่อเทียบกับกะทะล้อแบบเหล็กกล้า เนื่องจากการหล่อผสมรวมของ อะลูมิเนียม กับแม็กนีเซียม
2. มีความแข็งแรง จากที่กล่าวมาแล้ว โลหะผสมที่หล่อรวมกันทำให้ล้อมีน้ำหนักเบา ส่งผลให้ล้อแบบนี้มีหน้าตัดที่หนากว่ากะทะล้อแบบเหล็กกล้า จึงทำให้กะทะล้อแบบแม็กแข็งแรงกว่าล้อแบบเหล็กกล้าอัดขึ้นรูป
3. ล้อแม็กสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเกาะถนน อันเนื่องจากล้อแม็กมีพื้นที่ของล้อมาก และหน้ากงล้อกว้าง ทำให้สามารถใส่ยางหน้ากว้างได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่สัมผัสกับถนนมากขึ้น ส่งผลทำให้รถช่วยเกาะถนนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่รถเข้าโค้ง
4. การระบายความร้อนของล้อได้ดี เมื่อรถมีการเบรก หรือการเลี้ยวโค้งทำให้เกิดความร้อนที่ล้อรถยนต์ โลหะผสมของล้อแม็กมีคุณสมบัติในการระบายความร้อนได้ดี เนื่องจากเป็นตัวนำที่ดี ทำให้ช่วยลดความร้อนได้อย่างรวดเร็วกว่ากะทะล้อแบบเหล็กกล้า


นอกจากข้อดีของล้อแม็กแล้ว ล้อแบบนี้ยังมีข้อเสียกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

1. ล้อแม็กมักจะทำปฏิกิริยากับละอองของเกลือ
2. กะทะล้อแม็ก มักเกิดการสึกกร่อนเกี่ยวกับการแยกตัวทางไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากการสัมผัสของเหล็กกล้ากับโลหะเบา แนวทางการแก้ไขโดยการป้องกันการสัมผัสของวัตถุทั้งสองชิ้น โดยการใช้จาระบีทาที่สตัสที่ร้อยยึดกะทะล้อกับดุมล้อ ส่วนในการถ่วงล้อควรใช้กาวติดตัวถ่วงเพื่อป้องกันการสัมผัสกัน
3. กะทะล้อแม็ก ถึงแม้จะมีน้ำหนักเบาและแข็งแรง แต่เปราะ ดังนั้นเมื่อเกิดการกระแทกหรือการประทะอย่างแรงทำให้เกิดการชำรุดเสียหายได้ง่าย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.thailandindustry.com


EmoticonEmoticon