มารู้จักการใช้งาน และวิธีการดูแลรักษารถไถ รถแทรกเตอร์ของคุณ

ปัจจุบันภาคเกษตรกรรมมีการใช้งานรถไถและรถแทรกเตอร์อย่างแพร่หลาย ยี่ห้อที่นิยมใช้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นยี่ห้อคูโบต้า ไม่ว่าจะเป็น ทำนา ทำสวน ทำไร่ รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตรมีหลายรูปแบบด้วยกัน

รถแทรกเตอร์ คือ พาหนะที่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเพื่อลาก จูง ดัน เครื่องมือ หรือส่วนต่อพ่วง เพื่อประโยชน์ในการเกษตร เช่น เปิดหน้าดินด้วย ไถกระทะ ปราบดิบ หรือ ลากจูงเทรลเลอร์ในพื้นที่เกษตร ไร่ สวน นา ฯลฯ ที่ยานพาหนะอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งต้องการอาศัยรถแทรกเตอร์ทั้งสิ้น และสามารถใช้ในภาคเกษตร การทำเหมือง การทำถนน หรือพัฒนาที่ดิน หรือพื้นทีที่เข้าถึงด้วยรถยนต์ทั่วไปไม่ได้ หรือบางครั้งสามารถใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมบางอย่างได้ หรือในโรงสีผลิตผลเกษตรเราก็มักเห็นรถแทรกเตอร์ได้ด้วยเช่นกัน รถไถและรถแทรกเตอร์หลักๆ จะประกอบด้วยเครื่องยนต์ต้นกำลัง อุปกรณ์พ่วงลากและขับหมุน เครื่องมือทุ่นแรง โดยรถแทรกเตอร์ทั่วไปจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ เครื่องยนต์ที่มีรอบต่ำแต่แรงบิดสูง เพราะต้องการแรงฉุดลากที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ล้อหลังใช้ยางใหญ่และหน้ายางกว้าง เพื่อรองรับน้ำหนักในขณะทำงาน ดอกยางมีลักษณะเป็นดอกก้างปลา เพื่อช่วยเพิ่มแรงเสียดทาน และให้แรงฉุดลากเพิ่มขึ้น ตัวถังรถสูงเพื่อให้เข้าไปยังตำแหน่งใช้งานระหว่างแนวพืชและคันดิน หรือร่องคูได้สะดวก และมีโครงหลังคาที่แข็งแรง

รถไถและรถแทรกเตอร์สามารถแบ่งได้ตามลักษณะของเครื่องยนต์คือ รถแทรกเตอร์ขับเคลื่อน 2 ล้อ(2WD) และรถแทรกเตอร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ(4WD) ซึ่งรถแทรกเตอร์แบบขับเคลื่อน 2 ล้อ จะถูกส่งกำลังขับจากเครื่องยนต์มาที่ 2 ล้อหลัง และรถแทรกเตอร์แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เครื่องยนต์ต้นกำลังจะขับกำลังไปที่ล้อทั้ง 4

รถแทรกเตอร์ขับเคลื่อน 2 ล้อ ได้ถูกออกแบบและพัฒนาจนเป็นที่นิยมใช้งานในไร่นาต่างๆ อย่างแพร่หลาย ซึ่งรถแทรกเตอร์แบบขับเคลื่อน 2 ล้อ สามารแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ แบบ Standard Tread, Row Crop, High Clearance และแบบ Low Profile ซึ่งแต่ละแบบนั้นมีความสามารถและลักษณะโดดเด่นที่แตกต่างกัน สำหรับการใช้งานในพื้นที่การเกษตรที่แตกต่างกัน เหมาะกับการใช้งานในพื้นผิวการเกษตรที่อ่อนนุ่ม เป็นโคลนเลน หรือพื้นผิวที่ดินแฉะเปียกชุ่ม ที่อาจจะทำให้รถติดหล่ม หรือพื้นที่ที่มีวัชพืชมากทำให้การขับเคลื่อนรถแทรกเตอร์แบบ 2 ล้อนั้นไม่สามารถใช้งานได้ ก็จะนิยมใช้รถแทรกเตอร์ขับเคลื่อน 4 ล้อแทน

รถแทรกเตอร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ แบบ Front Wheel Auxiliary Drive คือสามารถปรับแต่งหรือเพิ่มส่วนให้ล้อหน้าสามารถขับเคลื่อนได้เหมือนล้อหลัง แต่ล้อหน้ายังคงเล็กกว่าล้อหลัง และแบบ True 4Wheel drive คือรถแทรกเตอร์ขับเคลื่อน 4 ล้อแบบไม่ต้องปรับแต่งใดๆ ลักษณะของรถแทรกเตอร์แบบนี้ คือ ล้อทั้ง 4 จะมีขนาดเท่ากันทั้งล้อหน้าและล้อหลัง

ในปัจจุบันรถแทรกเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทต่อการประกอบอาชีพทางเกษตรแทนการใช้แรงงานของคนหรือสัตว์เนื่องด้วยประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้ทุ่นแรงในการทำเกษตรได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้ได้ปริมาณงานที่มากกว่า ลดต้นทุนในการผลิต ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงนับได้ว่ารถแทรกเตอร์มีความสำคัญต่อการเกษตรอย่างมาก รถแทรกเตอร์นั้นสามารถแบ่งแยกเป็นประเภทได้ดังนี้

1. แบ่งตามลักษณะวิธีการขับเคลื่อน มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ

- รถแทรกเตอร์แบบล้อยาง (Wheel Tractor) นิยมใช้งานในการเกษตร

- รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบ (Track-laying Tractor) นิยมใช้ในงานบุกเบิกพื้นที่ใหม่ หรือใช้เตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูก

2. แบ่งตามลักษณะการใช้งาน มีด้วยกัน 5 ชนิด

- รถแทรกเตอร์แบบมาตรฐาน (Standard tread tractor) เป็นรถแทรกเตอร์ที่ผลิตมาในช่วงแรกๆ ไม่สามารถปรับช่วงล้อได้เลย จึงเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ กว้างๆเท่านั้น

- รถแทรกเตอร์ใช้งานทั่วไป (General purpose tractor) พัฒนามาจากแบบมาตรฐาน สามารถปรับเปลี่ยนช่วงล้อได้ จึงเหมาะกับการปลูกพืชเป็นแนว

- รถแทรกเตอร์ทรงสูง (High clearance tractor) แตกต่างจากรถแทรกเตอร์ใช้งานทั่วไปตรงที่ตัวรถยกสูงขึ้นมาจากพื้นดินมากขึ้น แทรกเตอร์แบบนี้ใช้งานเฉพาะอย่าง เช่น บำรุงรักษา กำจัดวัชพืช

- รถแทรกเตอร์ใช้ในสวนผลไม้ (Orchard or vineyard tractor) เป็นรถแทรกเตอร์ทรงเตี้ย ทำงาน ได้คล่องตัว นิยมใช้งานฉีดพ่นสารเคมี

- รถแทรกเตอร์ใช้ในแปลงผัก และสนามหญ้า (Garden and lawn tractor) เป็นรถแทรกเตอร์ขนาดเล็กที่ติดตั้งเครื่องตัดหญ้าใต้ท้องรถ ใช้ติดตั้งเครื่องทุ่นแรงขนาดเล็กได้

หลังจากรู้จักประเภทของเจ้ารถแทรกเตอร์กันแล้ว ทีนี้เรามาดูวิธีการดูแลรักษารถไถและรถแทรกเตอร์กัน ซึ่งการดูแลรักษาและทำความสะอาดอย่างถูกต้องจะช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษา และยังช่วยเพิ่มอายุการใช้งานของรถอีกด้วย

- ก่อนเริ่มใช้งาน สิ่งที่ต้องทำคือการตรวจเช็คสภาพโดยรวมทั่วไปของรถให้มีสภาพพร้อมใช้งาน หรือดูสิ่งผิดปกติ เช่น ปริมาณน้ำมัน น้ำในหม้อน้ำ แรงดันลมยาง

- ช่วงเวลาที่ใช้งาน การใช้งานหนักจนเกินไปจะทำให้เครื่องยนต์ระบายความร้อนไม่ทัน ควรทิ้งช่วงการทำงานให้เครื่องยนต์ได้พัก ระหว่างนั้นควรเช็ครถอีกครั้งหนึ่ง หากเกิดอาการผิดปกติจะได้แก้ไขได้ทัน

- หลังจากเสร็จการใช้งาน ขั้นตอนแรกควรทำความสะอาดตัวรถ ล้างเศษดิน โคลนที่ติดมากับตัวรถ เติมน้ำมัน เช็คเครื่องยนต์ให้พร้อมต่อการใช้งานในวันถัดไป

รถแทรกเตอร์ คือ รถใช้งานอย่างหนักหน่วงในการเกษตร หรือหากใช้ในภาคอื่นๆก็ยังถือว่าถูกใช้งานหนักเช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้อายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น เกษตรกรจึงควรดูแลบำรุงรักษา เปลี่ยนอะไหล่ หรือตรวจเช็คอุปกรณ์เครื่องยนต์และส่วนควบคุมอื่นๆ ตามระยะที่กำหนด ซึ่งเกษตรกรที่มีรถแทรกเตอร์จำเป็นต้องมีความรู้และสามารถทำได้ไม่มากก็น้อย เพราะจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าบำรุงรักษา และทำ ให้เสียเงินซื้อเฉพาะอะไหล่หรือส่วนต่างๆที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าในคู่มือการใช้งานรถแทรกเตอร์มีวิธีการดูแลรักษา และระยะเวลาที่ต้องเปลี่ยนอะไหล่แจ้งให้ทราบอยู่แล้ว

การเช็คหรือเปลี่ยนอะไหล่ตามระยะเวลาที่กำหนด มีแนวทางดังนี้

ทุก 2 สัปดาห์ ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และกรองน้ำมันเครื่องใหม่
ทุกๆ เดือน ปรับตั้งระยะฟรีของแป้นเหยียบคลัชและเบรก ตั้งความตึงของสายพาน
ทุกๆ 2 เดือน ตรวจเช็คระบบหัวฉีดเชื้อเพลิง ไดสตาร์ท ไดชาร์ท และเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่อง

การดูแลรักษารถในจุดต่างๆ ตามระยะนี้เป็นแนวทางสำหรับท่านที่ใช้งานรถแทรกเตอร์อยู่เป็นประจำ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดจากคู่มือการใช้รถแทรกเตอร์ของท่าน มั่นตรวจเช็ครถให้มีสภาพพร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ อย่ารอให้รถของท่านเสียหายแล้วจึงค่อยเอาไปซ่อม ถึงตอนนั้นอาจต้องเสียเงินมากกว่าการที่เราจะเปลี่ยนอะไหล่ที่จำเป็นตามระยะการใช้งาน สำหรับท่านที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องยนต์กลไก เลย ควรเริ่มศึกษาจากเรื่องง่ายๆไปก่อน และหากต้องเปลี่ยนอะไหล่ที่ซับซ้อน ก็ควรให้ช่างผู้ชำนาญทางด้านนี้เป็นผู้แก้ไข หรือท่านจะนำรถของท่านไปเข้าศูนย์บริการที่ท่านซื้อรถให้ดำเนินการบำรุงรักษารถแทรกเตอร์ของท่านก็ได้


ขอบคุณข้อมูลจาก thaitractor.wordpress.com และรูปภาพสวยๆ จาก siamkubota.co.th , kubota-global.net ไว้ ณ ที่นี้


EmoticonEmoticon