LPG , NGV , E20 , E85 ในยุคที่น้ำมันแพงอย่างนี้ จะเลือกใช้อะไรดี?

ในสภาวะที่ราคาน้ำมันทยานขึ้นสูงลิบฟ้า ซึ่งมีแต่จะขึ้นไปเรื่อย แพงขึ้นทุกวัน ผู้ใช้รถต้องแบกภาระค่าน้ำมันกันจนไหล่แทบทรุด เวลาจะเติมน้ำมันเต็มถังที ก็ต้องควักเงินหลักพันกันเลยทีเดียว ทำให้หลายคนเริ่มมองหาทางเลือกในการช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งทางออกหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมกันอยู่ขณะนี้เห็นจะไม่พ้น การเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานทางเลือกต่างๆ อย่างก๊าซ LPG,NGV หรือน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท E20 , E85 ที่มีราคาถูกกว่ากันเยอะ แต่ก็มักมีคำถามตามมาอีกว่า... "แล้วจะใช้เชื้อเพลิงอะไรดี ปลอดภัยหรือไม่ จะระเบิดหรือป่าว...?" บทความนี้เราจะมาพูดถึงคุณสมบัติและข้อดีข้อเสียของพลังงานทางเลือกต่างๆเหล่านี้

 

ก๊าซแอลพีจี คืออะไร?
    ก๊าซแอลพีจี (Liquefied Petroleum Gas: LPG) หรือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว คือ พลังงานธรรมชาติประเภทหนึ่งที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักกันในนาม "ก๊าซหุงต้ม" เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เบากว่าน้ำแต่หนักกว่าอากาศจึงลอยอยู่ในระดับต่ำ มีการสะสมและลุกไหม้ได้ง่าย ดังนั้น เมื่อมีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ จึงมีข้อกำหนดให้เติมสารมีกลิ่น เพื่อเป็นการเตือนภัย หากเกิดการรั่วไหลขึ้น
    ในบ้านเราก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี ได้มาจากการกลั่นน้ำมันและบ่อก๊าซธรรมชาติ ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน(ปตท. ยังมีเหลือจัดส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วยนะ) ก๊าซหุงต้มมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่สามารถนำมาใช้แป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ได้ก็คือ เป็นก๊าซที่มีค่าอ็อกเทนสูงโดยธรรมชาติ มีสอง    สถานะคือ มีสภาพเป็นก๊าซและเป็นของเหลว ซึ่งก๊าซแอลพีจีจะถูกบรรจุเป็นของเหลวใส่ถังภายใต้แรงดันสูง (แต่ยังต่ำกว่า เอ็นจีวี) เพื่อให้ขนถ่ายง่าย เมื่อนำไปใช้งานจะกลายสภาพเป็นไอ
    นอกจากจะนิยมใช้แอลพีจีในครัวเรือนแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำก๊าซแอลพีจีมาใช้แทนน้ำมันเบนซิน ในรถยนต์ เนื่องจากราคาถูกกว่าและมีค่าออกเทนสูงถึง 105 ทำให้เมื่อนำมาใช้กับรถยนต์แล้ว มีประสิทธิภาพสูง สมรรถนะทัดเทียมกับรถที่ใช้ระบบน้ำมันเดิม จนผู้ขับขี่ไม่มีความรู้สึกแตกต่างระหว่างการใช้น้ำมันหรือก๊าซแอลพีจี

คุณสมบัติของก๊าซแอลพีจี
    1. ก๊าซแอลพีจี อยู่ในรูปของเหลว และมีความดันต่ำ ถังก๊าซแอลพีจีมีความหนาผนังมากกว่าถังน้ำมันเบนซินมาก ทำให้โอกาสที่จะเกิดการระเบิด จากถังเนื่องจากการชนเป็นไปได้น้อย
    2. ก๊าซแอลพีจี ไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างใด ทำให้การจุดระเบิดสะอาดหมดจด และยืดอายุการใช้งานได้
    3. ก๊าซแอลพีจี มีออกเทนสูงกว่าน้ำมันเบนซิน จึงส่งผลให้การสตาร์ทและการทำงานของเครื่องยนต์มีความสมบูรณ์มากขึ้น
    4. ราคาค่าก๊าซถูกกว่าน้ำมันเบนซินหรือดีเซล ทั้งปัจจุบันและอนาคต
    5. ช่วยป้องกันปัญหาที่เรียกว่ารถกินน้ำมันเครื่อง เพราะการสึกหรอของชิ้นส่วน เมื่อใช้ก๊าซมีน้อยกว่า
    6. ยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์
    7. เครื่องยนต์เดินได้ราบเรียบกว่าในรอบที่ต่ำกว่า ถ้าหากได้รับการติดตั้งอย่างถูกวิธี

ข้อควรระวังสำหรับการใช้ LPG ในรถยนต์
    1. ต้องรู้ว่าก๊าซหุงต้มคือ ก๊าซ ที่หนักกว่าอากาศ เมื่อมีการรั่วซึมจะเกาะกลุ่มกันอยู่บนพื้นในระดับต่ำ
    2. ควรจะต้องตรวจเช็คการรั่วซึมตามจุดต่างๆ อย่างน้อยปีละสองครั้ง
    3. ก่อนที่จะมีการถอดชิ้นส่วนอุปกรณ์ในระบบก๊าซจะต้องปิดวาวล์ที่ถังก๊าซให้สนิท
    4. จะต้องไม่เติมก๊าซมากกว่าร้อยละแปดสิบของความจุของถัง
    5. ในการเติมก๊าซทุกครั้งอาจจะมีการรั่วซึมออกมานิดหน่อยตรงหัวเติมก๊าซ ให้ระวังประกายไฟในขณะนั้น
    6. การจอดรถหลังเลิกใช้งานเมื่อจอดรถในที่จอด เช่น โรงรถ ควรจะปิดวาวล์ที่ถังแกส
    7. โรงจอดรถถ้าเป็นไปได้ควรจะเป็นที่ๆ มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยเฉพาะในระดับพื้นดินต้องโปร่งโล่ง
    8. ถ้าจะนำรถที่ใช้ก๊าซเข้าตรวจเช็คสภาพรถยนต์ตามปกติ ควรจะให้มีก๊าซในถังเหลือน้อยที่สุด
    9. ในรถรุ่นที่ต้องปรับตั้งลิ้นไอดีไอเสียแบบกลไก ก็จะต้องมีการปรับตั้งระยะห่างของลิ้นตามปกติอย่างเข้มงวด
    10. LPG จะถูกเผาไหม้ช้ากว่าน้ำมันเบนซิน การปรับตั้งไฟจุดระเบิดจึงต้องปรับตั้งล่วงหน้าเพื่อจะเผาไหม้ได้หมดจด
    11. LPG ต้องใช้ประกายไฟจากหัวเทียนเข้มข้นกว่าที่ใช้ในน้ำมันเบนซิน จึงต้องเลือกใช้หัวเทียนให้ถูกต้องกับค่าความร้อน
    12. LPG มีค่าอ็อกเทนประมาณ 91 ถึง125 รถที่จะติดตั้งก๊าซหุงต้ม ควรจะมีอัตราส่วนกำลังอัดตั้งแต่ 10:1 ขึ้นไป จึงจะใช้ประสิทธิภาพของก๊าซได้อย่างคุ้มค่า
    อย่างไรก็ตาม รถยนต์ที่ใช้ LPG ถ้าวิเคราะห์กันในเรื่องของความปลอดภัยแล้ว มีความปลอดภัยไม่น้อยกว่ารถที่ใช้น้ำมันเบนซิน โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจากการชนทั้งหน้าหรือท้ายรถ วาล์วนิรภัยจะทำการปิดล็อคทันทีโดยอัตโนมัติ เมื่อมีก๊าซรั่วไหลออกจากถังในอัตราที่ผิดปกติจากการใช้งาน     ในขณะที่ถังน้ำมันเบนซิน เมื่อถูกชนยังมีโอกาสแตกรั่วทำให้น้ำมันรั่วไหลลงพื้น
    ก่อนนำรถที่ใช้งานอยู่เป็นประจำไปติดตั้งก๊าซแอลพีจี ควรจะปรับปรุงเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดเสียก่อน รถยนต์ทุกวันนี้แม้จะเป็นรถยนต์ที่ถูกพัฒนาให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลที่สูง อุปกรณ์ในการติดตั้งก๊าซ และกรรมวิธีในการติดตั้งก็ได้รับการพัฒนาให้ตามทันกับการพัฒนาของรถยนต์ ไม่ว่าจะ    เป็นการติดตั้งในระบบดูดหรือในระบบฉีด ก็ไม่มีปัญหาสำหรับการใช้งานอีกต่อไป การวิตกกังวลกับเรื่องการสึกหรอของเครื่องยนต์เมื่อใช้ก๊าซนั้นในเทคโนโลยีของปัจจุบัน ไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องนำมาขบคิดกันอีกต่อไป
    ในประเทศอื่นทั่วโลก มีรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซ LPG ที่ใช้ร่วมกับน้ำมันเบนซินมากเป็นล้านๆ คันแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปที่เข้มงวดกวดขันในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะก๊าซ คือพลังงานที่สะอาด และประหยัด อย่ารอช้าหากท่านคิดจะติดตั้งก๊าซ LPG ในรถยนต์ของท่าน เพราะในภาวะที่ราคาของน้ำมันมีแต่ปรับราคาขึ้นเป็นรายวัน ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับวันนี้ ติดตั้งก๊าซ น่าจะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าแม้ว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการติดตั้งก็ตาม



ก๊าซเอ็นจีวีคืออะไร
    ก๊าซเอ็นจีวี (Natural Gas for Vehicle: NGV) มีภาษาเชิงวิชาการว่า ก๊าซซีเอ็นจี (Compressed Natural Gas: CNG)  คือ ก๊าซธรรมชาติที่มี "มีเทน" เป็นส่วนประกอบหลักและถูกอัดจนมีความดันสูง ซึ่งในบางประเทศเรียกว่า "ก๊าซธรรมชาติอัด" (ซีเอ็นจี) ซึ่งถูกอัดที่แรงดัน 200 bar หรือ 3,000 psi และถูกกักเก็บไว้ในถังบรรจุก๊าซธรรมชาติอัดที่ถูกผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษให้สามารถรองรับแรงดันได้ โดยมีสภาพเป็นก๊าซหรือไอที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ โดยมีค่าความถ่วงจำเพาะต่ำกว่าอากาศ จึงเบากว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหลจะฟุ้งกระจายไปตามบรรยากาศอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีการสะสมลุกไหม้บนพื้นราบ

คุณสมบัติของก๊าซเอ็นจีวี
    1. อุณหภูมิติดไฟของก๊าซเอ็นจีวีนั้นสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่นๆ ติดไปยาก ทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดไฟไหม้เมื่อก๊าซรั่วหรืออุบัติเหตุ
    2. ก๊าซเอ็นจีวี ถูกจัดเก็บอยู่ในรูปไอ ซึ่งมีแรงดันสูง จึงทำให้ไม่มีอากาศเข้าไปผสม จึงไม่ก่อให้เกิดการผสมกันระหว่างก๊าซ จึงลดโอกาสในการติดไฟและระเบิดได้
    3. ก๊าซเอ็นจีวี ก่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สะอาดหมดจด และไม่ก่อให้เกิดการสกปรกของน้ำมันเครื่อง จึงสามารถยืดอายุการใช้งานของน้ำมันเครื่องได้
    4. ก๊าซเอ็นจีวี ไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างใด ทำให้การจุดระเบิดสะอาดหมดจด และยืดอายุการใช้งานได้
    5. ก๊าซเอ็นจีวี ไม่ส่งผลเสียต่อลูกสูบและกระบอกสูบ ทำให้เกิดการหล่อลื่นที่มีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้อายุการใช้งานยาวนานขึ้น
    6. ก๊าซเอ็นจีวี มีออกเทนสูงกว่าน้ำมันเบนซิน จึงส่งผลให้การสตาร์ทและการทำงานของเครื่องยนต์มีความสมบูรณ์มากขึ้น
    7. ก๊าซเอ็นจีวี ก่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สะอาดหมดจด ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงช่วยลดมวลไอเสีย และส่งผลต่อการลดมลพิษในอากาศโดยตรง
    8. มีสัดส่วนของคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นและมีคุณสมบัติเป็นก๊าซ ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์มากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และปริมาณไอเสียที่ปล่อยออกจากเครื่องยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น
    9. เป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดควันดำหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน จึงสามารถลดปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
    10. เป็นเชื้อเพลิงที่สามารถผลิตได้ในประเทศ จึงมีราคาถูกกว่าน้ำมัน และสามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการลดการนำเข้าน้ำมันดิบ
    11. เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ที่มีความปลอดภัยมากที่สุด เพราะมีคุณสมบัติเบากว่าอากาศ ดังนั้นเมื่อเกิดรั่วไหล ก๊าซเอ็นจีวีจะไม่สะสมอยู่บนพื้นดินจนเกิดการลุกไหม้เหมือนเชื้อเพลิงอื่นๆ และอุณหภูมิที่จะทำให้ก๊าซเอ็นจีวีสามารถลุกติดไฟในอากาศเองได้ก็ต้องสูงถึง 650 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้อด้อยนั้นรถยนต์ที่จะใช้ก๊าซเอ็นจีวีได้ต้องเป็นรถที่มีเครื่องยนต์ ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้งานก๊าซเอ็นจีวีโดยเฉพาะ หรือไม่ก็ต้องเป็น "เครื่องยนต์ระบบเชื้อเพลิงสองระบบ" หรือ "เครื่องยนต์ระบบเชื้อเพลิงร่วม" ที่ผ่านการดัดแปลงและติดตั้งอุปกรณ์พิเศษที่ทำให้เครื่องยนต์ใช้ได้ทั้งน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และก๊าซเอ็นจีวี
ปัจจุบันอุปกรณ์สำหรับการดัดแปลงเครื่องยนต์ดังกล่าวต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งอุปกรณ์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีระบบ "เครื่องยนต์ระบบเชื้อเพลิงร่วม" (ดีเซล-เอ็นจีวี) มีราคาสูงถึง 400,000-500,000 บาท และอุปกรณ์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีระบบ "เครื่องยนต์ระบบเชื้อเพลิงสองระบบ" (เบนซิน-เอ็น    จีวี) มีราคา 30,000-50,000 บาท นอกจากนี้ รถเอ็นจีวีจะมีกำลัง "ต่ำ" กว่ารถทั่วไปตามท้องตลาด แต่ถ้าวิ่งในเมืองปัญหาข้อนี้จะไม่มีผลกระทบมากนัก
รู้จักก๊าซธรรมชาติทั้งสองชนิดกันแล้ว ทีนี้เราจะมาเปรียบเทียบจุดเด่นจุดด้อยของก๊าซทั้งสองชนิดให้เห็นกันแบบชัดๆ เพื่อง่ายต่อการตัดสินใจค่ะ...
   
จุดเด่นของแอลพีจี
    1. ค่าติดตั้งถูกกว่า ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ ถ้าเป็นระบบดูดก๊าซ (Mixer) มีค่าใช้จ่าย 15,000-28,000 บาท ส่วนระบบฉีดก๊าซ (Injection) มีค่าใช้จ่ายราวๆ 35,000-43,000 บาท
    2. มีความจุก๊าซมากกว่า กล่าวคือ ถังก๊าซที่มีขนาดเท่ากัน แต่แอลพีจีสามารถบรรจุปริมาณก๊าซได้มากกว่า
    3. มีสถานีบริการ จำนวนแพร่หลายมากกว่า

ข้อด้อยแอลพีจี  
    1.  เป็นก๊าซที่ติดไฟง่ายกว่าเอ็นจีวี มีราคาสูงกว่า
    2. ภาครัฐมีแผนที่จะปล่อยราคาก๊าซให้ลอยตัวเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ก๊าซแอลพีจี มีราคาสูงขึ้นอีกในอนาคต

จุดเด่นของก๊าซเอ็นจีวี
    1. ภาครัฐให้การสนับสนุน มีนโยบายในเรื่องของการกำหนดราคา ทำให้ราคาอยู่ในการควบคุม
    2. มีรถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวี ประกอบจากโรงงานโดยตรง
    3. ปลอดภัยกว่า ทั้งในแง่คุณสมบัติของมันเองที่เบากว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหล ก็จะฟุ้งกระจายไปบนอากาศอย่างรวดเร็ว และอู่ที่รับติดตั้งเอ็นจีวี ผ่านการรับรองจาก ปตท.

ข้อด้อยก๊าซเอ็นจีวี 
    1. เรื่องสถานีบริการมีจำนวนน้อย โดยขณะนี้มีสถานีบริการเอ็นจีวีที่เปิดให้บริการแล้วจำนวน 176 แห่ง และกำลังจะเปิดอีก 59 แห่งในปีนี้
    2. ค่าติดตั้งค่อนข้างสูง โดยระบบดูดก๊าซจะมีค่าใช้จ่าย 38,000-43,000 บาท ส่วนระบบฉีดก๊าซ เป็นระบบที่มีอีซียู ควบคุมกรจ่ายก๊าซตามลำดับการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ จะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 58,000-63,000 บาท
    ได้รับข้อมูลเบื้องต้นกันไปแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของคุณๆ ที่จะต้องตัดสินใจกันเองแล้วหละค่ะว่า จะเลือกพลังงานทางเลือกชนิดใด


แก๊สโซฮอล์ E20
    เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า แก๊สโซฮอล์ ก็คือน้ำมันเบนซินผสมแอลกอฮอล์ มาจากคำว่าแก๊สโซลีน (เป็นสำนวนของอเมริกันที่เรียกน้ำมันเบนซิน) เมื่อบวกกับแอลกอฮอล์ก็เลยเรียกว่า แก๊สโซฮอล์ ไม่เกี่ยวข้องกับแก๊สหรือก๊าซที่ในสำนวนไทยหมายถึงไอระเหยของของเหลว อันที่จริงเราน่าจะเรียกกันว่า เบนโซฮอล์     ก็จะเข้าใจง่ายขึ้น แต่ก็เอาเถอะ ดั้งเดิมของเขาเรียกกันอย่างนั้น จากประเทศเริ่มต้น ที่เริ่มใช้กันในบราซิลมานานกว่า 30 ปีมาแล้ว
    แรกๆ ก็รู้สึกตื่นเต้นกับเชื้อเพลิงชนิดใหม่นี้ เพราะสามารถเอาเชื้อเพลิงที่ผลิตได้ จากพืชผลทางการเกษตร เช่น น้ำตาลหรือมันสำปะหลัง สำหรับประเทศที่มีพื้นที่ เกษตรเป็นจำนวนมาก จนผลิตผลล้นตลาดจนขายไม่ออก เมื่อของมันล้น ก็หาทางเบี่ยงเบนไปใช้ เพื่อให้ผลิตผลมีทางออก และเป๊นการพยุงราคามิให้ตกต่ำลงไปมากกว่านี้ ก็นับว่าเป็นผลดี แต่สำหรับประเทศที่ไม่สามารถผลิตผลิตผลทางการเกษตรได้อย่างเพียงพอ การเอาของที่กินได้มาเติมรถ จึงเป็นการไม่สู้จะเหมาะสมนัก เท่าที่ทราบจากคำบอกเล่าว่า ประเทศสหรัฐ ในเขตพื้นที่ของแคลิฟอร์เนีย ก็ยังไม่มีน้ำมันแก๊สโซฮอล์จำหน่าย คงจะมีบ้างในเขตพื้นที่แถวกลางๆ ประเทศนั่นแหละ ที่มีการเพาะปลูกพืชเป็นจำนวนมาก
    การผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อยก็มีต้นทุนสูงไม่น้อย เพราะกว่าอ้อยจะโตขึ้นมา ก็ต้องใช้เวลาเพาะปลูก อีกทั้งยังจะต้องใส่ปุ๋ย พรวนดิน และต้องมีการปรับสภาพผิวดินอยู่เสมอ เพราะเมื่อปลูกสัก 2 ครั้ง ไปแล้ว ก็เริ่มจะขาดสารอาหารในดิน จนไม่สามารถจะเพาะปลูกพืชอื่นได้ ในบางพื้นที่ก็มีการสลับการปลูกพืช ประเภทถั่วเพื่อปรับปรุงสภาพผิวดินให้มี คุณภาพคืนมาบ้าง สำหรับพืชประเภทมันสำปะหลัง ก็ถือได้ว่าเป็นพืชที่กินดิน เพราะเมื่อปลูกไปแล้วสักระยะ ดินก็จะจืดจนปลูกพืชอื่นไม่ได้เช่นกัน การปลูกพืชเหล่านี้ในระยะยาวจะมีผลทำให้ไม่สามารถปลูกพืชอื่นได้ แม้ตัวของมันเองก็จะไม่ค่อยงามเหมือนตอนปลูกใหม่ๆ
    เมื่อเอาพืชผลทางเกษตรมาผลิตเป็นเอทานอลได้แล้ว ก็จะได้เป็นสูตรเคมีดังนี้ C2H 5OH คิดเป็นอัตราส่วนของธาตุโดยมวล C:H:O= 52.2:13.1:34.5 คือคาร์บอน 52.2% ไฮโดรเจน 13.1% และออกซิเจน 34.5 มีค่าออกเทนที่ Ron 107 จะมีจุดเดือดที่ 78 C จึง ระเหยได้ง่าย ละลายในน้ำได้ดีในทุกอัตราส่วน เช่นเดียวกับเหล้าที่ผสมน้ำหรือโซดาที่เราดื่มกิน แต่การที่จะผสมกับน้ำมันเบนซินก็จะเข้ากันได้ยาก จำเป็นจะต้องเติมสารประเภทยึดเหนี่ยวเพื่อให้แอลกอฮอล์สามารถผสมกับเบนซิน ได้ ข้อแตกต่างจากสูตรเคมีของเบนซินจะมีเพียง C กับ H คือคาร์บอนกับไฮโดรเจนเท่านั้น การที่มี O หรือ ออกซิเจนอยู่ในเชื้อเพลิง ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้ในการจ่าย จำเป็นจะต้องเป็นวัสดุที่ไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนเท่านั้น
    สำหรับในรถยนต์รุ่นเก่าๆ จะไม่ได้ใช้วัสดุเหล่านี้เลย เพราะเชื้อเพลิงไม่มีออกซิเจนในตัว อีกทั้งยังพัฒนาไปไม่ถึงขั้น คงใช้ถังเชื้อเพลิงที่เป็นเหล็กและเคลือบด้วยตะกั่วหรือสังกะสี ส่วนระบบส่งเชื้อเพลิงและระบบจ่ายก็ยังเป็นอะลูมิเนียม หรือ ซิงค์ ดาย ดาส อุปกรณ์เหล่านี้จะถูกกัดกร่อน อีกทั้งส่วนที่เป็นท่อยาง หรือ ซีล โอริงส์ ก็จะเกิดการบวมและทำให้รั่วซึมจนชำรุดในที่สุด สำหรับยางสังเคราะห์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้กับแอลกอฮอล์ ก็ไม่สามารถใช้กับน้ำมันปิโตรเลียมได้ เพราะมันบวมอืด เหมือนอย่างยางหนังสะติ๊กแช่น้ำมันเบนซินหรือน้ำมันก๊าด ใช้เวลาไม่นานนักมันจะบวมเป็นวงโตมาก แต่ถ้าแช่ในแอลกอฮอล์ มันจะอยู่กันได้ ทีนี้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มันมีทั้งสองอย่าง วัสดุที่เป็นยางจึงต้องมีสูตรผสมพิเศษยิ่งกว่าและมีราคาแพงกว่าหลายเท่าตัว
    แก๊สโซฮอล์ที่มีจำหน่ายแล้วเวลานี้ก็คือ E10 นั่นก็คือมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วย 10% ที่ออกมาใหม่ปีนี้จะเป็น E20 หมายถึงจะมีส่วนผสมถึง 20% และจะมีราคาถูกลงไปอีก ในส่วนนี้ก็นับว่ามีอาการแปลกๆ เอาแค่ E10 ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 10% ทำให้แก๊สโซฮอล์ 95 ถูกกว่า 95 ธรรมดากว่า 10% ได้ ในส่วนนี้ถ้าพิจารณาโดยหลักการค้าแล้ว มันเป็นไปได้อย่างไร? เท่ากับว่าแอลกอฮอล์ที่ผสมเพิ่มเข้าไปแทนที่ 10% เป็นของที่ได้มาเปล่าๆ ไม่มีราคาอะไร หรือเป็นการชดเชยทางภาษี เพื่อต้อนประชาชนไปใช้ หรือไม่ก็เป็นการเพิ่มราคาเบนซิน 95 เพื่อให้ไม่น่าใช้ ตรงนี้ไม่สามารถเดาได้ว่า ยิ่งผสมมากก็ยิ่งถูกลง ถ้ามันเป็นเช่นนี้จริง ก็จัดจำหน่าย E100 ไปเลย อาจจะเติมฟรีด้วยก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ เครื่องยนต์ที่จะใช้แอลกอฮอล์ล้วนสามารถสร้างได้
    เชื้อเพลิงชนิดนี้สามารถให้พลังงานกับเครื่องยนต์ได้มาก โดยไม่ทำให้เครื่องยนต์เสียหาย เนื่องจากค่าความร้อนน้อย การเผาไหม้มีอุณหภูมิต่ำกว่าเบนซิน ก็ตัดปัญหาเรื่องลูกสูบละลายไปได้มาก อีกทั้งยังจะต้องใช้ปริมาณเชื้อเพลิงที่มีอัตราส่วนสูงกว่าเบนซินถึง 2 เท่าตัว เช่นเครื่องเบนซินอยู่ในเกณฑ์ 11-15:1 กับอากาศ สำหรับแอลกอฮอล์จะต้องให้ส่วนผสมอยู่ที่   6-7:1 คือ 2 เท่า ของเบนซินและเชื้อเพลิงชนิดนี้มีการดูดซับความร้อนได้ดีมาก
    เมื่อฉีดเชื้อเพลิงผสมกับอากาศ ก็จะทำให้ลดอุณหภูมิของอากาศได้จนต่ำกว่า 0? เพราะในขณะที่เครื่องยนต์สตาร์ทติดใหม่ๆ ยังไม่มีความร้อน ท่อไอดีจะเย็นมากจนน้ำแข็งเริ่มจับ มันเป็นอาการเดียวกับเวลาที่เราจะถูกฉีดยาแล้วใช้แอลกอฮอล์เช็ดผิวก่อน ตรงนี้จะมีความรู้สึกเย็น การลดอุณหภูมิของอากาศที่จะเข้าเครื่องยนต์ได้มาก ก็ยิ่งจะทำให้ความหนาแน่นของอากาศมีมวลสูง คือมีเม็ดอากาศถูกบรรจุในกระบอกสูบได้มาก เครื่องยนต์ก็ให้แรงม้าได้มาก มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว



ความรู้เรื่องเชื้อเพลิง E85
    พลังงานในรูปของเชื้อเพลิงทดแทนจากเอทานอลกำลังเข้ามาช่วยให้การใช้รถยนต์ของคนไทยมีความประหยัดมากยิ่งขึ้น รถยนต์แบบเฟล็กซ์ฟิวที่มีขายในประเทศได้เข้ามาทำให้ทางเลือกในการเติมเชื้อเพลิงมีความหลากหลาย เชื้อเพลิงทางเลือกเอทานอลยังรักษาสภาพแวดล้อมเนื่องจากปล่อยมลพิษน้อยกว่าเชื้อเพลิงเบนซินปกติทั่วไป...
    น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีตัวอักษร E นำหน้า  หมายถึงการผสมผสานระหว่างน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินและเอทานอล  หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันว่าแก๊สโซฮอล์ สำหรับตัวเลขที่ต่อท้ายหมายถึงปริมาณเอทานอลที่ผสมอยู่ เช่น E85  มีส่วนผสมของเอทานอล 85% และน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 15% ในขณะที่ E10  มีเอทานอล 10% ผสมกับน้ำมันเบนซิน 90% เช่นเดียวกับ E20 ที่มีเอทานอล 20%  และเบนซินอีก 80% ในประเทศไทยนั้น  เริ่มทำการจำหน่ายเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544  โดยมีส่วนผสมเอทานอล E10 สำหรับในประเทศอื่นๆ นั้น  ก็ได้มีการส่งเสริมให้ใช้เชื้อเพลิงทางเลือกประหยัดพลังงานกันอย่างแพร่หลายทั้งที่ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา  สหรัฐอเมริกาและยุโรปในบางประเทศที่เล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของเชื้อเพลิงเอทานอล
    ความจริงแล้วเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ 95  ก็คือเชื้อเพลิง E10 นั่นเองท่ี่ผสมกับน้ำมันออกเทน 95 ขณะที่แก๊สโซฮอล์  91 นั้นมีราคาขายที่ถูกกว่าเนื่องจากมีออกเทนน้อยกว่า  ซึ่งเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ 91 ก็คือเชื้่อเพลิงเบนซินแบบ 95  ที่ผสมกับเอทานอล เพียงแต่ออกเทนของแก๊สโซฮอล์ 91  นั้นน้อยกว่าออกเทนของแก๊สโซฮอล์ 95 นั่นเอง  ค่าออกเทนที่สูงกว่าจะทำให้การจุดระเบิดสมบูรณ์ ให้สมรรถนะดีขึ้นเล็กน้อยในรถยนต์ที่มีอัตราส่วนกำลังอัดสูงและใช้ระบบจุดระเบิดแบบแปรผัน  สำหรับเอทานอลนั้น ผลิตได้จากวัสดุทางชีวภาพที่ผ่านขั้นตอนขบวนการหมัก  วัตถุดิบดังกล่าวมีทั้งอ้อย มันสำปะหลัง เมล็ดข้าว ข้าวบาร์เลย์ มันเทศ  ต้นทานตะวัน ข้าวสาลีและมวลชีวภาพอื่นๆ  โดยที่อ้อยและมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักในการใช้ผลิตเอทานอลของประเทศไทย 
    ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการทำการเกษตรไร่อ้อยรวมพื้นที่ทั้งสิ้น 8 ล้านไร่  และมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอีก 8 ล้านไร่ประโยชน์ของเอทานอลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง  เอทานอลมีปริมาณของออกซิเจนสูงกว่าราว 30% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงเบนซิน  ผลลัพธ์ที่ได้คือการเผาไหม้ที่หมดจดและสะอาดกว่า โดยทั่วๆ ไปแล้วเชื้อเพลิง E85 จะช่วยลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซค์ CO2 ลงได้ประมาณ 20%  ขณะที่มลพิษอื่นๆ เช่น คาร์บอนมอนน็อคไซค์ ไนตรัสออกไซค์  และซัลเฟอร์ไดออกไซค์จะมีปริมาณลดลงอย่างมากเช่นกัน  แก๊สมลภาวะเหล่านี้ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ตามมาด้วยสภาวะโลกร้อน  เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเอทานอลยังลดสารก่อมะเร็งบางชนิดอย่างเบนซินและบิวทาไดอีนอีกด้วย ในปัจจุบัน ประเทศไทยใช้น้ำมันเบนซิน 20  ล้านลิตร และดีเซลอีก 50 ล้านลิตรต่อวัน  เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงและทรัพยาการที่น้อย  ทำให้ไทยต้องนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนใหญ่จากต่างประเทศ โดยในปี พ.ศ.2552 ประเทศไทยใช้งบประมาณในการนำเข้าเชื้อเพลิงเป็นจำนวนเงิน 623,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี พ.ศ. 2555 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 ล้านบาท
    จากข้อดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว  การใช้เอทานอลในวงกว้างยังมีส่วนช่วยในด้านความมั่นคงของพลังงานในประเทศ  เนื่องจากเอทานอลสามารถผลิตได้ในปริมาณมากๆ ในประเทศไทย  เป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีความยั่งยืน  ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในประเทศและมีส่วนสำคัญในการลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ  การผลิตเอทานอลยังสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยการส่งออก ในปี พ.ศ. 2550  ไทยส่งออกเอทานอลจำนวน 14.9 ล้านลิตร ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 303.87  ล้านลิตรในปี พ.ศ. 2555  สำหรับประเทศที่นำเข้าเอทานอลจากไทยมากที่สุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น  ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และเกาหลีใต้  ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้เอทานอลจำนวนถึง 2.4  ล้านลิตรต่อวัน ความต้องการใช้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  กระทรวงพลังงานประเมินว่า ยอดการใช้เอทานอลจะเพิ่มถึงระดับ 9  ล้านลิตรต่อวันในปี 2565 ทุกวันนี้มีรถยนต์เฟล็กซ์ฟิวจำนวน 52,112  คันวิ่งอยู่บนถนนในประเทศไทย มีสถานีบริการเชื้อเพลิง E85 จำนวน 64  แห่งทั่วประเทศ  ทั้งสองตัวเลขนี้คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีรถยนต์ที่สามารถรองรับเชื้อเพลิงชนิดนี้ออกสู่ตลาด รวมถึงรถยนต์ Chevrolet Captiva และ Cruze
    ทำความเข้าใจกับรถยนต์ที่สามารถใช้เชื้อเพลิง E85 ให้มากยิ่งขึ้น  ก่อนอื่นต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงบางประการของเอทานอลเสียก่อน  เอทานอลมีคุณสมบัติกัดกร่อน มีค่าความร้อนต่ำกว่าราว 28%  ซึ่งหมายความว่าหากต้องการพลังงานเทียบเท่าเชื้อเพลิงเบนซิน  จะต้องใช้เอทานอลในปริมาณที่มากกว่า ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับน้ำมันเบนซินทั่วไปแล้ว  เอทานอลมีค่าออกเทนสูงกว่าน้ำมันเบนซินอีกด้วย เพื่อการใช้ประสิทธิภาพ E85  ได้อย่างน่าพึงพอใจ รถยนต์จะต้องมีระบบเชื้อเพลิงที่รองรับ E85  เพื่อให้มีความทนทานต่อคุณสมบัติกัดกร่อนของเอทานอล  ไม่ว่าจะเป็นปั๊มเชื้อเพลิง สายนำส่งเชื้อเพลิง  หัวฉีดและเครื่องยนต์รวมถึงชิ้นส่วน เช่น ลูกสูบ แหวนรองลูกสูบ  วาล์วและบ่าวาล์วจะต้องมีความแข็งแกร่งทนทานมากยิ่งขึ้น  เนื่องจากเอทานอลปริมาณมากจะต้องถูกใช้เพื่อผลิตพลังงานให้ได้เท่ากับ เครื่องยนต์เบนซิน ปั๊มเชื้อเพลิง  สายเชื้อเพลิงและหัวฉีดจะต้องมีอัตราไหลลื่นมากกว่า  เอทานอลมีค่าออกเทนสูงกว่าเชื้อเพลิงเบนซิน  จังหวะของการจุดระเบิดจะต้องเกิดขึ้นล่วงหน้าและหน่วงเวลาโดยขึ้นอยู่กับปริมาณของเอทานอลในเชื้อเพลิง  การจุดระเบิดด้วยระบบจุดระเบิดที่ทันสมัยจะทำให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับเครื่องยนต์ E85  พละกำลังที่เพิ่มขึ้นได้เข้ามาชดเชยการผลิตพลังงานที่น้อยกว่าของเอทานอล  จึงไม่ส่งผลกระทบไปถึงกำลังในรูปของแรงม้าจากเครื่องยนต์  ซึ่งเป็นเรื่องที่มักจะมีความเข้าใจที่ผิดมาโดยตลอด

กล่อง ECU  ในรถยนต์เฟล็กซ์ฟิวจะทำการปรับอัตราการไหลเวียนเชื้อเพลิงและการจุดระเบิดในทันที 
ความยืดหยุ่นในระบบทำให้รถยนต์เฟล็กซ์ฟิวสามารถรองรับเชื้อเพลิงได้ตั้งแต่ E10 ไปจนถึง E85 นั่นคือที่มาของรถยนต์แบบเฟล็กซ์ฟิว  สำหรับความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอทานอลคือจะสามารถเพิ่มกำลังของเครื่องยนต์ได้เนื่องจากมีค่าออกเทนสูง แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น  ค่าออกเทนที่สูงจะช่วยใน    เรื่องของการจุดระเบิดล่วงหน้าแต่ยังคงคายกำลังเท่าเดิม การเพิ่มกำลังของเครื่องยนต์จะต้องมีการปรับปัจจัยหลายอย่าง เช่น  อัตราส่วนกำลังอัด  ซึ่งถูกกำหนดมาจากโรงงานผู้ผลิตนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้นอกจากการปรับแต่งเครื่องยนต์ครั้งใหญ่ ส่วนผสมของอากาศและเชื้อเพลิง  อัตราการไหลเวียนของเชื้อเพลิง การปรับแต่งเครื่องยนต์และจูนกล่องควบคุม  ECU ปัจจุบันมีชุดปรับแต่งเครื่องยนต์ให้สามารถรองรับเชื้อเพลิงแบบ E85  แต่ก็ยังคงไม่สมบูรณ์แบบมากนัก  แตกต่างจากรถยนต์แบบเฟล็กซ์ฟิวที่ผลิตโดยตรงจากโรงงาน  ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับเชื้อเพลิงทดแทนโดยเฉพาะ เนื่องจากเอทานอลจะต้องถูกใช้ในปริมาณมากกว่าเพื่อที่จะผลิตพลังงานให้เทียบเท่าเชื้อเพลิงเบนซิน  อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของเอทานอลจึงสูงกว่าเชื้อเพลิงแบบเบนซิน  แต่ด้วยราคาที่ถูกกว่าเบนซิน (เอทานอล E85 ลิตรละประมาณ 21.38 บาท)  ถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งมีราคาสูงถึง 34.68 บาท  ข้อได้เปรียบในจุดของราคาเอทานอลที่ถูกกว่าทำให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด  ถึงแม้จะสิ้นเปลืองมากกว่าเชื้อเพลิงเบนซินและต้องเติมบ่อยกว่า แต่ผู้ใช้  E85 ก็ยังพบว่ามีค่าใช้จ่ายในการเติมเชื้อเพลิงที่ต่ำกว่าเบนซินอยู่ดี  แถมยังช่วยในเรื่องของมลพิษที่ลดลงอีกด้วย

ข้อดีและข้อเสีย E-85

· E85 มีคุณสมบัติกัดกร่อนสูงจริงหรือข้อนี้จริง แต่ไม่ได้เยอะอย่างที่คิดครับ แม้แต่น้ำมันเบนซินเองก็กัดด้วยเหมือนกัน ดังนั้นปัญหาจริงๆของ E85 ไม่ใช่เรื่องของคุณสมบัติการกัดกร่อน แต่กลับเป็นคุณสมบัติดูดความชื้นของแอลกอฮอล์ต่างหาก ซึ่งถ้าเราปล่อยเอธานอลทิ้งไว้นานๆ ตัวมันก็จะเริ่มดูดความชื้นสะสมเอาไว้เรื่อยๆ และถ้าหากภาชนะที่บรรจุนั้นเป็นเหล็ก ผลที่ได้ก็คือสนิมนั่นเองผู้ผลิตทราบถึงเรื่องนี้ และก็ได้เปลี่ยนจากท่อน้ำมันที่เคยเป็นเหล็กล้วนตอนสมัยเครื่องคาร์บูฯเป็นท่ออลูมิเนียม ถังเหล็กก็มีการชุบสารกันสนิมเคลือบไว้ด้านใน ช้เป็นถังและท่อน้ำมันพลาสติกแทนแล้ว นอกจากนี้ก็ยังเป็นถังระบบปิด กันอากาศและความชื้นเข้าออกเอาไว้อีกด้วย รถที่เป็นเครื่องหัวฉีดมานั้นมีความพร้อมที่จะใช้ E85 ได้เกิน 90% อยู่แล้วในส่วนของยางกับเอธานอลนั้น ไม่ใช่ความเสียหายจากการกัดกร่อนหรือสนิม แต่เกิดจากคุณสมบัติความ “แห้ง” ของแอลกอฮอล์ ยางที่นำมาใช้ในการผลิตรถยนต์ เปลี่ยนเป็นยางผสมหรือยางสังเคราะห์ซึ่งจะไม่มีการแตกตัวในลักษณะอย่างที่ว่าแทนไปแล้ว ดังนั้นหากสำรวจแล้วว่าท่อยางที่ใช้งานยังอยู่ในสภาพที่ดี ก็สามารถเติม E85 ได้เลย

· เติมแล้วทำให้ปั๊มติ๊กพังหรือกรองตันหรือเปล่า?ถ้าหากเป็นปั๊มติ๊กที่มีชิ้นส่วนเป็นเหล็ก และมีการปล่อยทิ้งไว้นานก็จะทำให้ปั๊มเป็นสนิมได้จริง ถ้าเป็นรถที่มีอายุมากๆ ผ่านการใช้งานมานาน พอเติม E85 ใส่ลงไป จะทำให้คราบจำพวกสารหล่อลื่นหรือสารเติมแต่งอื่นๆที่ผสมมากับน้ำมันเบนซินที่เกาะอยู่ในถังละลายออกมา ซึ่งอาจจะทำให้กรองเบนซินหรือปั๊มติ๊กอุดตันได้ถ้าหากมีประมาณเยอะพอ ตรงนี้อาจจะใช้วิธีเปลี่ยนกรองเบนซินหลังจากใช้งานไปสักพักแล้วก็น่าจะหมดปัญหา

· เติม E85 ทำให้เครื่องพังได้ใหม?ถ้าเป็นรถที่ไม่ได้ทำมารองรับ E85 ถ้าฝืนใช้ไปนานๆโดยไม่มีการใส่อุปกรณ์ปรับส่วนผสมใดๆเลย ก็อาจจะทำให้เครื่องพังจากส่วนผสมบางได้ครับ ซึ่งยังไงก็ไม่ใช่พังในทันทีแน่นอน

· เติม E85 แล้ววิ่งได้ระยะทางน้อยลงรึเปล่า?จริงครับ แต่น้อยลงประมาณ 10-15% เท่านั้น เทียบกับราคาน้ำมันที่ถูกกว่าเกือบครึ่งก็ยังถือว่าประหยัดได้มากกว่าพอสมควร ถ้าหากราคาน้ำมันต่างกันไม่เกิน 20% ก็คงไม่คุ้มที่จะเติมครับ

· E85 มีพลังงานน้อยกว่าเบนซิน ทำให้รถแรงน้อยกว่าเดิมหรือเปล่า?จริงอยู่ที่พลังงานจาก E85 น้อยกว่าน้ำมันเบนซิน “เมื่อเทียบจากการเผาไหม้ในปริมาณที่เท่ากัน” แต่ด้วยคุณสมบัติที่ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณการจ่าย E85 สำหรับการเผาไหม้ให้มากขึ้นกลับกลายเป็นข้อดีที่ทำให้อุณหภูมิในการเผาไหม้ของ E85 มีความเย็นมากกว่าและเผาไหม้ได้นานกว่า แทนที่จะเป็นการระเบิดแบบรุนแรงในระยะเวลาสั้นๆ ก็กลายเป็นการระเบิดที่ยาวตลอดการเคลื่อนที่ลงของลูกสูบ ส่งผลให้มีแรงบิดที่ต่อเนื่องกว่า เครื่องยนต์เดินเรียบกว่าอย่างชัดเจน

ข้อมูลจาก http://www.rodweekly.com/news_detail.php?q_id=1119 แหล่งที่มา นิตยสาร รถ Weekly


EmoticonEmoticon