ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวเกี่ยวกับรถยนต์ ที่เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องต่างๆ ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจนบางคนฝังความคิดว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องไปแล้ว แต่ในโลกโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ตที่ช่วยกระจายข่าวสารด้านเทคโนโลยีอย่างกว้างขวางในยุคปัจจุบันนี้ ไม่มีคำว่าสายเกินไปหากจะลบความเชื่อและความเข้าใจผิดๆเหล่านั้นให้กลายเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแก่ท่าน
1. ความกว้างของยาง/ความกว้างของหน้ายาง
ความเข้าใจผิด : บนแก้มยางจะมีการระบุตัวเลขและรหัสต่างๆ ของยางเส้นนั้นไว้อยู่เสมอ สำหรับยางทั่วไปจะมีการระบุรายละเอียดที่คุ้นเคยกันตามตัวอย่าง เช่น 205/60R15ตัวเลข 3 หลักแรกนี้เองที่หลายคนเข้าใจผิด โดยเข้าใจว่าเป็นความกว้างของหน้ายางที่สัมผัสถนน มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร ในกรณีตัวอย่างนี้ คิดว่ายางเส้นนี้มีหน้ากว้าง 205 มิลลิเมตร
ความเป็นจริง : ตัวเลข 3 หลักแรกนี้ เป็นความกว้างของยาง ไม่ใช่ความกว้างของหน้ายางที่สัมผัสถนน วิธีการตรวจสอบง่ายๆ ของตัวเลข 3 หลักนี้ ก็คือ นำยางเส้นนั้นใส่กับกระทะล้อที่มีขนาดเหมาะสมกันตามมาตรฐานที่วงการยางกำหนดและสูบลม วัดความกว้างของยางจากส่วนที่กว้างที่สุด ซึ่งมักจะ เป็นส่วนโค้งของแก้มยางที่ป่องออกมา จากแก้มยางข้างหนึ่งไปยังแก้มยางอีกข้างหนึ่ง โดยวัดรวมทุกอย่างที่กว้างที่สุด ถ้ามีตัวอักษรตัวเลขหล่อนูนออกมา ก็ต้องวัดรวมด้วย แล้วจะได้ค่าความกว้างของยางเส้นนั้นออกมา
ตัวเลข 3 หลักแรกที่ระบุไว้ เช่น 205 จะเป็นความกว้างของยางในส่วนที่ป่องที่สุด ซึ่งเป็นแก้มยางส่วนความกว้างของหน้ายางจริงจะไม่มีการกำหนดไว้ และเท่าที่ทดสอบวัดความกว้างของยางดู ก็จะพบว่าค่าที่ได้ของหน้าสัมผัสยางจะแคบว่าตัวเลขความกว้างของยางที่ระบุไว้ 10-30 มิลลิเมตร นั่นหมายความว่า ถ้ายางที่ระบุความกว้าง ไว้เท่ากันแต่ต่างรุ่นต่างยี่ห้อกัน ความกว้างของยางจะเท่ากัน แต่ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าความกว้างของหน้าสัมผัสยางจะเท่ากันหรือไม่? เพราะพบว่ายางรุ่นสปอร์ตหรือรุ่นที่เน้นสมรรถนะสูงๆ จะมีความกว้างของหน้าสัมผัสยางใกล้เคียงกับตัวเลขความกว้างของยางมากกว่ายางรุ่นสำหรับใช้งานทั่วไป
ท่านสามารถพิสูจน์หลักการนี้ด้วยตัวท่านเองโดยการเอาไม้บรรทัดหรือตลับเมตรไปวัดรอยฝุ่นบนดอกยางที่เป็นหน้าสัมผัสของยาง จะพบว่าค่าที่ได้จะมีขนาดแคบกว่าตัวเลขที่ระบุไว้ที่แก้มยาง แต่ถ้าขยับไปวัดค่าที่ขอบแก้มยางด้านนอกจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ก็พบว่าค่าที่ได้จะมีความกว้างเท่ากับหรือใกล้เคียงตัวเลข 3 หลักแรกที่ระบุไว้ที่แก้มยาง นอกจากนี้ยังมีตัวเลขที่คุณควรรู้ก่อนเปลี่ยนยาง อีกหลายส่วนให้ศึกษากัน
ตัวเลขซีรีส์ ต้องคำนวนก่อน
ความเข้าใจผิด : จากตัวอย่าง 205/60R15 ตัวเลข 2 หลักชุดที่ 2 คือ 60 หมายถึงซีรีส์ของยาง หลายคนเข้าใจผิดว่า ยางที่มีตัวเลขซีรีส์มาก จะต้องมีแก้มสูงกว่ายางที่มีซีรีส์น้อยกว่าเสมอความเป็นจริง : ตัวเลขซีรีส์ หมายถึง ความสูงของแก้มยางคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของความกว้างของยาง หากต้องการทราบความสูงจริงของแก้มยาง สามารถคำนวณได้จาก
ตัวอย่าง
ยาง 205/60R15
ยางซีรีส์ 60 มีความสูงของแก้มยาง เป็น 60 เปอร์เซ็นต์จากความกว้าง 205 มิลลิเมตร คำนวณได้โดย 205 X (60/100) = 123 มิลลิเมตร
ยาง 185/65R13
ยางซีรีส์ 65 มีความสูงของแก้มยาง เป็น 65 เปอร์เซ็นต์จากความกว้าง 185 มิลลิเมตร คำนวณได้โดย 185 X (65/100) = 120.25 มิลลิเมตร
จึงสรุปได้ว่า ยางซีรีส์ 60 ไม่จำเป็นต้องมีความสูงของแก้มยางเตี้ยกว่ายางซีรีส์ 65 เสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับตัวแปรทุกตัวที่แสดงไว้ที่แก้มยางเส้นนั้นๆ หากต้องการยางที่ตรงกับตามต้องการของผู้ใช้ ควรปรึกษาผู้ให้บริการ หรือนำตัวเลขที่ปรากฏบนแก้มยางมาคำนวณเสียก่อน
ยางที่ใช้กับกระทะล้อขอบใหญ่กว่า ยางต้องใหญ่กว่า
ความเข้าใจผิด : ในกรณีที่จะเปลี่ยนล้อแม็กให้มีขาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ขึ้น ตามสไตล์ล้อแม็กวงโต+ยางแก้มเตี้ย เช่น ล้อเดิมขอบ 14 นิ้ว จะเปลี่ยนเปลี่ยนเป็นขอบ 16 นิ้ว หลายคนเข้าใจผิด โดยด่วนสรุปว่ายางที่ใช้กับกระทะล้อขอบ 16 นิ้ว ต้องมีขนาดใหญ่กว่ายาง 14 นิ้ว อิงกับตัวเลขขอบกระทะล้อทั้งที่นั่นคือ วงในของยาง ไม่ใช่วงนอกความเป็นจริง : ยางจะมีเส้นรอบวงมากหรือมีความสูงโดยรวมเท่าไร ไม่เกี่ยวกับขนาดของกระ ทะล้อหรือเรียกกันว่าขอบกี่นิ้วนัก เพราะต้องขึ้นอยู่กับความสูงของแก้มยาง ซึ่งก็ขึ้นกับความกว้างและซีรีส์นั่นเอง
ยางขอบ 17 นิ้ว ซีรีส์น้อยแก้มเตี้ยบางเฉียบ อาจจะมีเส้นรอบวงน้อยและมีความสูงโดยรวมน้อย กว่ายางขอบ 14 นิ้ว ซึ่งมีซีรีส์มากและแก้มสูงก็เป็นได้
เปลี่ยนยางเร็วกว่าอายุการใช้งาน
ความเข้าใจผิด : คนส่วนใหญ่เชื่อและได้รับคำแนะนำที่ผิดๆ ว่ายางรถยนต์ต้องเปลี่ยนตามระยะการใช้ยาง หรือไม่เกิน 2 ปีต้องเปลี่ยนออก แม้ว่าดอกยังไม่หมด หรือยังดูดีอยู่ก็ต้องเปลี่ยนออก หลายคนเชื่อปักใจ เพราะหวาดระแวงต่ออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น จากยางที่อายุการใช้งานนานแล้วความเป็นจริง : จริงอยู่หากยางมีอายุการใช้งานนานและเก่าอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน ทั้งยางแตก ยางระเบิดได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วยางมีอายุการใช้งานมากน้อยแค่ไหน เราสามารถสังเกตุได้จากความนิ่มของเนื้อยาง ความลึกของดอกยาง การใช้งานในชีวิตประจำวันของตัวท่านเอง
ผู้ผลิตยางรถยนต์ส่วนใหญ่ แม้ว่าอยากจะขายยางเส้นใหม่เร็วๆ ก็ไม่ได้แนะนำให้เปลี่ยนยางเมื่อครบ 3 ปี หรือเมื่อเกิน 50,000 กิโลเมตรหรือต่ำกว่านั้น แต่ผู้ผลิตยางรถยนต์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ตรวจเช็คสภาพยางรถยนต์ของท่าน ว่าสามารถใช้งานได้จนดอกจะสึกถึงสะพานยาง ซึ่งเป็นจุดที่ลึกสุดของร่องยาง และความนิ่มของเนื้อยางยังคงมีอยู่ หากดูแล้วไม่มีการแตกร้าวของเนื้อยาง หรือมีการปริบวมของแก้มยางหรือตัวยาง ท่านก็สามารถใช้งานต่อไปได้จนกว่าดอกยางจะสึกจนถึงระยะข้างต้น(สะพานยาง) โดยไม่มีข้อจำกัดปีที่ใช้
หาข้อมูลทั้งจากเอกสารหรือถามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของผู้ผลิตยางโดยตรง ก็ให้ความเห็นในทางเดียวกัน แต่ถ้าให้ระบุอายุการใช้งานของยางสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านนี้ ก็มีคำแนะนำสำหรับอายุการใช้งานคร่าวๆ จะอยู่ที่ประมาณ 3 ปี หรือ 40,000 กิโลเมตร แต่หากดอกยางยังไม่หมด อาจเพราะยางเส้นนั้นไม่ได้ถูกใช้งานหนัก หรือไม่ได้วิ่งบนทางวิบาก และไม่ถูกกระแทกบ่อยจากการใช้งาน ก็สามารถใช้งานต่อไปได้มากกว่า 60,000 กิโลเมตรหรือราว 5 ปี ได้สบายๆกันเลยทีเดียว ข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้ว่า ควรเปลี่ยนยางเมื่อไหร่?
ยางดอกหมดลื่น
ความเข้าใจผิด : ยางดอกหมดหรือยางหัวโล่นจะลื่น ถ้าจะให้ถูกต้องต้องบอกว่าลื่นบนถนนเปียก แต่บนถนนแห้งจะยึดเกาะถนนได้ดีกว่ายางที่มีดอกลึกความเป็นจริง : ปัจจัยในการยึดเกาะถนนของยางรถยนต์ อาศัยหน้าสัมผัสของยางซึ่งทำหน้าที่เป็นเฟืองยางขนาดจิ๋วถี่ๆ ฝังลงไปบนพื้นถนน ยิ่งมีหน้าสัมผัสมากก็ยิ่งมีเฟืองมาก ทำให้เกาะถนนได้ดี ส่วนร่องยางจริงๆแล้วร่องยางที่มีนั้นมีหน้าที่เพียงเอาไว้รีดน้ำออกจากหน้าสัมผัสของยาง เพื่อไม่ให้ยางเกิดการลื่นไถลขณะวิ่งผ่านถนนเปียก หรือพื้นผิวที่เปียกน้ำ
ร่องยางส่วนใหญ่จะมีลักษณะแต่เป็น กึ่งตัว V ปากร่องกว้างกว่า ยอดของแท่งดอกยางจึงแคบกว่า เมื่อยางสึกลง ร่องยางตื้นหรือเกือบหมด หน้าสัมผัสยางจึงมีมากขึ้น ฐานของแท่งดอกยางกว้างกว่าตอนที่ยังไม่สึก หากเนื้อยางยังนิ่มจะเกาะถนนแห้งได้ดีกว่ายางมีดอกยางร่องลึก เพราะเรื่องพื้นที่ของหน้าสัมผัสที่แตกต่างกัน แต่จะลื่นไถลได้ง่ายเมื่อเจอถนนเปียก เพราะไม่มีร่องยางช่วยในการรีดน้ำ หน้ายางจะมีชั้นฟิล์มของน้ำคั่นระหว่างยางกับถนนทำให้หน้ายางสัมผัสถนนได้ไม่เต็มที่
ยางต่างประเทศดีกว่ายางไทย
ความเข้าใจผิด : หลายคนเข้าใจว่ายางที่ผลิตจากต่างประเทศมีคุณภาพ และสมรรถนะดีกว่ายางที่ผลิตในไทยความเป็นจริง : ไม่ว่ายางนั้นจะผลิตจากประเทศใด หากมองถึงคุณภาพแล้วต้องวัดกันเป็นรุ่นๆไป ไม่สามารถสรุปได้ว่ายางญี่ปุ่นดีกว่าไทย ยางไทยดีกว่ายางมาเลฯ ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตยางเชื่อมถึงกันหมดแล้ว พัฒนาการด้านการผลิตยางล้วนแพร่หลาย เราควรมองถึงลักษณะของยาง และการนำไปใช้งานมากกว่า เลือกยางเพียงเพราะเป็นยางที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ยางยี่ห้อไม่ดัง คุณภาพต่ำ
ความเข้าใจผิด : ยางยี่ห้อไม่ดังคุณภาพจะต่ำ อีกทั้งยังเปรียบเทียบจากราคาที่ถูกกว่าของยี่ห้อดังๆแล้ว ก็เข้าใจเองว่าของถูกย่อมไม่ดี ของดีต้องราคาแพงความเป็นจริง : ยางรถยนต์ไม่ได้มีแค่ 2 ยี่ห้อ และยี่ห้อที่ไม่ดัง ก็อาจมีคุณภาพดีเช่นเดียวกับยางยี่ห้อดังต่างๆ เพียงแต่ยางยี่ห้อไม่ดังไม่มีการโฆษณาและไม่อยู่ในกระแสของการใช้งานในตลาดทั่วไป ปัจจัยเรื่องราคาเนื่องจากต้นทุนต่ำ และไม่ต้องเสียค่าโฆษณามาก จึงทำให้ได้ราคาที่ถูกกว่ายางยี่ห้อดังๆ ที่ต้องรวมค่าใช้จ่ายในการโฆษณา จัดอีเวนต์ต่างๆเพื่อสร้างกระแสค่านิยมให้แก่ผู้ใช้งาน จริงอยู่ที่ยางยี่ห้อดังๆเหล่านี้มีคุณภาพดีอันเนื่องจากต้องการรักษาคุณภาพของสินค้าเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือในแบรนด์ของตัวเอง แต่ราคาก็สูงขึ้นตามไปด้วย หากเราเลือกใช้ยางอย่างรอบคอบและมีความรู้ ก็อาจได้ยางคุณภาพดีราคาถูกใช้ ประหยัดเงิน แถมยังคุ้มค่าอีกด้วย
ปะยางแบบยิงยางเส้นอุด รั่วง่าย
ความเข้าใจผิด : ทั้งคำแนะนำจากร้านปะยางหรือดูด้วยสายตา ก็ชวนให้คิดว่าการปะยางแบบยิงยางเส้นเข้าไปเบ่งตัวในรูรั่วน่าจะมีโอกาสรั่วได้ หรือเมื่อใช้ไปนานๆอาจมีอาการซึมออกของลมยาง เพราะไม่ได้ปะแบบอุดกาวหรืออัดแน่นให้เป็นชิ้นเดียวกันความเป็นจริง : น่าแปลกที่ผู้ผลิตยางแนะนำการปะยางแบบนี้เป็นมาตรฐาน และไม่แนะนำการปะยางแบบสตีมอัดทับรูรั่วด้วยยางแผ่นและความร้อน เพราะจะทำให้เนื้อยางบริเวณที่ปะนั้นแข็งหรือบวมได้ สวนทางกับร้านปะยางที่ต้องให้ลูกค้าปะยางแบบสตีมยางและอัดด้วยความร้อน ซึ่งทำเงินได้มากกว่า
ทั้งหมดนี้กล่าวถึงความเชื่อผิดๆที่เราผู้ใช้รถใช้ถนน อาจไม่เคยทราบถึงข้อเท็จจริง หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่านที่ไม่รู้ หรือเข้าใจผิดได้ความกระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุเพราะยางรถยนต์
ด้วยความปรารถนาดีจาก บริษัท ไทร์ทรัคเซ็นเตอร์อินเตอร์เทรด จำกัด
EmoticonEmoticon